Hot Topic!
เราจะทำให้ 'รัฐวิสาหกิจ' ดีขึ้นได้อย่างไร
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 30,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต : โดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเชิญจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้ไปร่วมให้ความเห็นในการเสวนาหัวข้อ "มารยาทหรือจรรยาบรรณช่วยชาติได้มากกว่า? กรณีเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจกับการเมือง" ร่วมกับคุณบรรยง พงษ์พานิช บริษัทหลักทรัพย์ภัทร์ จำกัด (มหาชน) คุณประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคุณเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยมีคุณมานะ นิมิตร มงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
การเสวนามาจากข่าวที่นักการเมืองในรัฐบาลจะเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจ โดยอ้างว่า เป็นมารยาทของบอร์ดรัฐวิสาหกิจจะต้อง ลาออก จึงเกิดข้อสงสัยว่าจำเป็นหรือไม่ เป็นมารยาทของใครหรือเป็นผลประโยชน์ของนักการเมือง ประกอบกับพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2562 ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือน พ.ค. จึงควรต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมในประเด็นนี้ ซึ่งผมเห็นด้วย จึงตอบรับคำเชิญเข้าร่วมเสวนา
เป็นที่ทราบกัน นักการเมืองมักใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายในฐานะรัฐมนตรี ใช้ตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจให้ประโยชน์ต่างตอบแทนแก่กลุ่มคนที่เป็นพวกพ้อง หรือส่งคนของตนเข้าไปเพื่อหาประโยชน์ เป็นปัญหาดั้งเดิมของรัฐวิสาหกิจไทย ทำให้รัฐวิสาหกิจมีปัญหาขาดทุนเรื้อรังจากการใช้อำนาจดังกล่าว
ทั้งเพื่อหาประโยชน์และหรือต้องการใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือหาเสียงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เช่น ประกาศลดอัตราค่าโดยสาร ให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ล็อกสเปคการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ประโยชน์บริษัทที่ใกล้ชิด ทำกันมาต่อเนื่องจนรัฐวิสาหกิจไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อประชาชนตามวัตถุประสงค์ขององค์กร สร้างความเสียหายให้กับรัฐวิสาหกิจและประเทศ
ในเรื่องนี้ข้อสรุปของผมคือ ปัญหา รัฐวิสาหกิจอยู่ที่คนเป็นสำคัญ ทั้งนักการเมือง กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน รัฐวิสาหกิจบางส่วน ที่มุ่งใช้รัฐวิสาหกิจ เพื่อประโยชน์ของตนเองมากกว่าที่จะทำให้พันธกิจหรือวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจประสบความสำเร็จ ทำให้รัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะในธุรกิจที่ให้บริการประชาชนจะขาดทุน ที่พอจะมีกำไรหรือกำไรดี ส่วนใหญ่ ก็มาจากอำนาจผูกขาดทางธุรกิจที่มากับการจัดตั้งองค์กร ทำให้ไม่มีการแข่งขัน หรือมีการแข่งขันน้อย
ขณะที่ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ก็ชอบ ที่จะตามใจและเอาใจนักการเมืองที่เข้ามา ควบคุมจนบางคนได้ดิบได้ดีกลายเป็น นักการเมือง กลายเป็นรัฐมนตรีไปด้วย ดังนั้น ปัญหารัฐวิสาหกิจในบ้านเราจึงอยู่ที่คนที่เข้ามารับผิดชอบงานในองค์กรสาธารณะ แต่ไม่พร้อม ที่จะรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม
ในการเสวนา ผมได้ให้ความเห็นว่าการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจต้องเริ่มที่คน โดยวางระบบเพื่อให้คนดีที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามาทำงานในรัฐวิสาหกิจเพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรที่ทำงานอย่างมืออาชีพ ทั้งในระดับคณะกรรมการที่เป็นจุดสูงสุดของ องค์กรที่กำกับดูแลธุรกิจและระดับบริหารและพนักงานที่จะอยู่กับองค์กรต่อไป ที่ต้องรู้เรื่องและมีวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์สาธารณะ มีจิตสำนึกในการทำหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศ ที่สำคัญคือมีระบบการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการเพื่อลดการแทรกแซงของนักการเมือง ทั้งในระดับนโยบายและในการส่งคนของตนเข้าไปบริหาร เข้าไปเป็นกรรมการเพื่อหาประโยชน์
รัฐวิสาหกิจ โดยพื้นฐานแล้วคือองค์กรที่ทำธุรกิจ เพียงแต่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นรัฐบาล ที่ตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาจากภาษีของประชาชนเพื่อประกอบธุรกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน และเมื่อเป็นธุรกิจ ความล้มเหลวของรัฐวิสาหกิจก็ไม่ต่างจากความล้มเหลวของบริษัทเอกชนทั่วไป คือมาจากคณะกรรมการที่ไม่ทำหน้าที่จนรัฐวิสาหกิจเสียหาย และถ้าเราดูสาเหตุหลักที่นำไปสู่ ความล้มเหลวในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ สาเหตุก็จะไม่ต่างจากกรณีบริษัทเอกชนทั่วไป คือ
1.กรรมการไม่มีความรู้ความสามารถที่จะกำกับดูแลธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.กรรมการที่เข้าไปทำหน้าที่มีวาระซ่อนเร้น มีประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้งที่ต้องการใช้รัฐวิสาหกิจหาประโยชน์ นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด การจัดซื้อจัดจ้างหรือการลงทุนที่ไม่จำเป็น หรือแพงเกินไป สร้างความเสียหายให้กับรัฐวิสาหกิจ
3.ผู้ที่เข้าไปนั่งเป็นกรรมการ ไม่ทำหน้าที่ ไปแต่เซ็นชื่อรับเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ ของการเป็นกรรมการ แต่ไม่กำกับดูแลฝ่ายบริหารอย่างจริงจัง ผลคือประธานหรือ ซีอีโอเป็นใหญ่ สามารถทำอะไรก็ได้เพราะไม่มีการกำกับดูแล เกิดการละเมิดหรือใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสม จนสร้างความเสียหายให้กับรัฐวิสาหกิจ
นี่คือ ปัญหาที่มีอยู่ และสำหรับการแก้ไข ปัญหา ความเห็นของผมก็คือ
1.ในการแต่งตั้งกรรมการต้องวางระบบ ในการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการที่จะลดการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจตามกฎหมายในการแต่งตั้ง ซึ่ง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2562 จะสามารถช่วยได้ ซึ่งผมสมัยเป็นกรรมการผู้อำนวยการไอโอดี ก็ได้เป็นกรรมการชุดธรรมาภิบาล ที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยเสนอให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เสนอชื่อบุคคลที่สมควรเป็นกรรมการให้คณะกรรมการกลั่นกรองรายชื่อ ซึ่งจะเป็นกรรมการจากภายนอกที่จะตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ พิจารณาตัดทอนรายชื่อ ให้เหลือเท่ากับ หรือเป็นสองเท่าของตำแหน่งกรรมการที่ว่าง
และรัฐมนตรีที่มีอำนาจแต่งตั้งจะต้องพิจารณาแต่งตั้งกรรมการจากรายชื่อที่คณะกรรมการกลั่นกรองรายชื่อเสนอเท่านั้น ไม่สามารถเลือกคนแบบตามใจได้เหมือนในอดีต ถ้าไปแบบนี้คิดว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะช่วยลดทอนปัญหาการแทรกแซงของนักการเมืองได้ระดับหนึ่ง
2.ต้องสร้างความมั่นใจว่าผู้ที่จะมารับตำแหน่งกรรมการ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากหน่วยราชการ ต้องมีความรู้ความสามารถที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งแนวทางที่ใช้กันก็คือ ระบุทักษะของกรรมการที่คณะกรรมการควรมี โดยเน้นความหลากหลายในความรู้ความสามารถที่จะเป็นประโยชน์ต่อยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจ สามารถให้เวลาและให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีของคณะกรรมการ
3.คณะกรรมการมีแนวปฏิบัติที่ดีในการทำหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อนำไปสู่การทำงานที่มีมาตรฐานเป็นที่ไว้วางใจและมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น แนวปฏิบัติที่ดีด้านธรรมาภิบาลขององค์กรไม่แสวงหากำไรสำหรับกรรมการและผู้บริหาร ออกโดยมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมา ภิบาลสำหรับองค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น มูลนิธิ สมาคม สถาบันศาสนา สหกรณ์ออมทรัพย์ แนวปฏิบัติดังกล่าวสามารถนำมาปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจได้ เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายสาธารณะ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อพันธกิจของส่วนรวม
อีกประเด็นที่สำคัญและผมได้ย้ำในงานเสวนา คือ ความสำคัญที่ผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ต้องมีสำนึกในการทำหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องรักษาประโยชน์ของประเทศและส่วนรวม เพราะคณะกรรมการเปลี่ยนได้ ซีอีโอเปลี่ยนได้ แต่ผู้บริหารและพนักงานต้องอยู่กับรัฐวิสาหกิจไปอีกนาน
ดังนั้น ถ้าพนักงานไม่มีความหวงแหนในสมบัติของประเทศ มุ่งแต่จะหาประโยชน์ หรือเปิดช่องทางให้บริษัทเอกชนที่เป็นกลุ่มอิทธิพลหาประโยชน์ รัฐวิสาหกิจก็จะเสียหายและประชาชนก็จะเสียหาย เพราะผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม แต่ทำงานเพื่อประโยชน์ของบริษัทเอกชน ผิดจิตสำนึกของการเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ
นี่คือความเห็นของผมในเรื่องนี้
ผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ต้องมีสำนึกในการทำหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องรักษาประโยชน์ของประเทศและส่วนรวม